การจัดฟันไม่จำเป็นต้องถอนฟันในทุกกรณี

        ขึ้นอยู่กับว่าผู้ที่เข้ารับการจัดฟันมีฟันซ้อนเกมากน้อยเพียงใด หรือมีพื้นที่ในขากรรไกรเพียงพอ สำหรับการจัดเรียงฟันให้เป็นระเบียบได้หรือไม่ หากมีฟันซ้อนเกมากประกอบกับขากรรไกรมีพื้นที่ไม่พอก็ต้องถอนฟันออก

     ซึ่งโดยทั่วไปจะพิจารณาถอนฟันกรามน้อยซี่ที่หนึ่งด้านละ 1 ซี่ เนื่องจากเป็นฟันที่อยู่กึ่งกลางความโค้งของขากรรไกร ซึ่งจะอยู่ไม่ไกลจากการซ้อนเกของฟันด้านหน้าและฟันด้านหลัง ทำให้ฟันหน้าและฟันหลังสามารถเคลื่อนตัวเข้ามาปิดช่องว่างได้ดีกว่าการถอนฟันซี่อื่นๆ และฟันกรามน้อยซี่ที่สองก็สามารถทำหน้าที่แทนฟันกรามน้อยซี่ที่หนึ่งได้เช่นกัน

ทุกวันนี้ผู้บริโภคที่ใส่ใจต่อสุขภาพปากและฟัน มีทางเลือกมากมายในการดูแลสุขภาพในช่องปากของตน เพราะผู้ผลิตหลายๆ ราย ได้วางจำหน่ายหมากฝรั่งปราศจากน้ำตาล ( Sugar-free gum ) ที่ไม่ทำให้ฟันผุ เป็นที่ทราบกันดีว่าการเคี้ยวหมากฝรั่งเป็นวิธีการทำความสะอาดฟันที่ดีมากวิธีหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราต้องใช้ชีวิตส่วนใหญ่นอกบ้านและการแปรงฟันเป็นเรื่องที่ไม่สะดวกนัก หมากฝรั่งปราศจากน้ำตาลดังกล่าวไม่ทำให้เกิดฟันผุ โดยผู้ผลิตจะใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล (sweetener) เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์

หลายๆ ท่านอาจมีข้อสงสัยว่า “ เมื่อไม่มีน้ำตาล ก็ไม่ทำให้ฟันผุ แล้วจะช่วยป้องกันฟันผุได้หรือไม่ ” จึงขอกล่าวถึงข้อเท็จจริงและความแตกต่างของหมากฝรั่งปราศจากน้ำตาลแต่ละประเภทให้ได้ทราบดังนี้

แต่เดิมนั้นน้ำตาลเป็นสิ่งเดียวที่ใช้ผสมในขนมหวาน และขนมขบเคี้ยวตลอดจนหมากฝรั่งเพื่อให้รสหวานอร่อย แต่ข้อเสียก็คือ “ น้ำตาลนั้นนอกจากจะเป็นอาหารของเราแล้ว ยังเป็นอาหารของแบคทีเรียในปากที่มีชื่อว่า สเตร็ปโตค็อกคัส มิวแทน ตัวการหลักของการเกิดฟันผุอีกด้วย ” เมื่อน้ำตาลเป็นต้นเหตุหนึ่งของปัญหาฟันผุ ผู้ผลิตหมากฝรั่งหลายๆราย จึงหันมาใช้ “ สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ” แทนการใช้น้ำตาล เนื่องจากแบคทีเรียไม่สามารถย่อยสลายสารให้ความหวานเหล่านี้ได้ จึงไม่ทำให้ฟันผุ อีกทั้งยังทำให้รู้สึกสบายใจกว่าในการซื้อหามาบริโภค อย่างไรก็ดี ในบรรดาสารให้ความหวานทั้งหมด “ ไซลิทอล ” ดูจะโดดเด่นที่สุด เนื่องจากให้รสชาติหวานอร่อยใกล้เคียงน้ำตาลมากที่สุด อีกทั้งยังให้พลังงานหรือแคลอรี่น้อยกว่าน้ำตาลถึง 40% ที่สำคัญก็คือ ไซลิทอลช่วยป้องกันฟันผุได้ เพราะสามารถช่วยทำให้แบคทีเรียต้นเหตุของการเกิดฟันผุลดจำนวนลงได้ ( เนื่องจากไม่สามารถย่อยไซลิทอลไปเป็นอาหารได้ เพราะมีโมเลกุลเพียง 5 อะตอม ซึ่งสารให้ความหวานอื่นๆ ไม่สามารถทำได้ ) ไซลิทอล คือน้ำตาลแอลกอฮอล์ธรรมชาติชนิดหนึ่ง พบได้ในพืช ผักและผลไม้หลายชนิด อาทิ ต้นเบิร์ช สตรอเบอร์รี่ รวมถึงผลไม้เปลือกแข็ง เช่น ถั่วเชสนัท และถั่ววอลนัท เนื่องจากคุณสมบัติพิเศษของไซลิทอลที่ช่วยลดปัญหาฟันผุ มีรสหวานอร่อยและเป็นผลิตผลจากธรรมชาติ หลายๆประเทศชั้นนำในยุโรปและอเมริกาจึงมีการนำไซลิทอลมาใช้เป็นส่วนประกอบในขนมขบเคี้ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมากฝรั่งเพื่อช่วยลดปัญหาฟันผุ นับเนื่องเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว และยังนิยมแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน จากการค้นคว้าวิจัยพบว่า ผู้ที่เคี้ยวหมากฝรั่งที่มีสารไซลิทอล 5 ครั้ง / สัปดาห์ ติดต่อกันเป็นเวลา 2 สัปดาห์ มีปริมาณคราบจุลินทรีย์ในปากลดลงถึง 38% ในขณะที่ผู้ที่เคี้ยวหมากฝรั่งที่มีสารซอร์บิทอล ที่พบในหมากฝรั่งปราศจากน้ำตาลทั่วๆไป ในระยะเวลาเท่ากัน จะมีปริมาณคราบจุลินทรีย์ในปากลดลงเพียง 9.7% และแน่นอนว่าหากเรายังเคี้ยวหมากฝรั่งธรรมดาที่ใช้น้ำตาลไม่ว่าจะเป็นซูโครสหรือกลูโคสเป็นส่วนประกอบในระยะเวลาเท่าๆกัน ก็ย่อมจะเป็นการเพิ่มปริมาณคราบจุลินทรีย์ในปากให้ยิ่งมากขึ้น ฟันของเราจึงยิ่งเสี่ยงต่อการผุมากยิ่งขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย

สำหรับหมากฝรั่งที่มีส่วนผสมทั้งไซลิทอล และซอร์บิทอล พบว่าจะยิ่งเสริมประสิทธิภาพช่วยลดปัญหาคราบจุลินทรีย์ได้ดีกว่าหมากฝรั่งที่มีซอร์บิทอลเพียงอย่างเดียว

นอกจากนี้ ในการศึกษาเกี่ยวกับการผุของฟันน้ำนมและฟันแท้ ยังพบว่า การเคี้ยวหมากฝรั่งที่มีส่วนผสมของไซลิทอลช่วยให้การสะสมแร่ธาตุคืนกลับของแคลเซี่ยม และฟอสเฟตซึ่งเป็นองค์ประกอบของเนื้อฟันเพิ่มขึ้นมากกว่าการเคี้ยวหมากฝรั่งที่มีส่วนผสมของซอร์บิทอล และหมากฝรั่งที่ผสมน้ำตาล โดยยังทำให้บริเวณรอยผุของฟันกลับแข็งขึ้นอีกด้วย ปัจจุบัน สมาคมทันตแพทย์ชั้นนำในยุโรปกว่า 10 ประเทศ อาทิ ฟินแลนด์ อังกฤษ และ ฝรั่งเศส ฯลฯ จึงให้การรับรองว่า “ การเคี้ยวหมากฝรั่งที่มีส่วนผสมของสารไซลิทอล หลังอาหารมื้อหลักและมื้อว่างครั้งละ 1-2 เม็ด โดยเคี้ยวนานอย่างน้อย 3 นาทีขึ้นไปเป็นประจำ สามารถช่วยลดการเกิดฟันผุได้ ”

ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก gotoknow.org

     อาหารเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับร่างกาย แต่อีกด้านหนึ่งการกินไม่เลือก ไม่ระมัดระวังก็มีโทษสำหรับร่างกายเช่นกัน ตอนนี้เรารณรงค์ในการเลือกรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารที่รับประทานแล้วน้ำหนักไม่เพิ่ม ไม่อ้วน อาหารที่กินแล้วไม่ก่อให้เกิดโรค เช่น ไขมันอุดตันในเลือด โรคหัวใจ ทางทันตกรรมก็เช่นกัน เราให้ความสำคัญในเรื่องอาหารอย่างมากในการป้องกันโรคฟันผุ โรคเหงือก

     เมื่อเรารับประทานอาหารผ่านเข้าไปในช่องปาก แบคทีเรีย ซึ่งอยู่ในรูปของแผ่นบางๆ เหนียว ที่เรียกว่า Plaque (แผ่นคราบ) จะเปลี่ยนอาหารเหล่านั้นให้เป็นกรดทำลายฟันและเหงือก แบคทีเรียเหล่านี้ชอบอาหารหวาน อาหารที่เป็นแป้งมาก

     หลังรับประทานอาหารหากยังไม่แปรงฟันทันที แบคทีเรียเหล่านี้ก็ทำหน้าที่สร้างกรดไปเรื่อยๆ ดังนั้นยิ่งรับประทานอาหารบ่อยๆ 3 มื้อหลักแล้วยังมีแทรกระหว่างมื้อ อาหารก็สัมผัสกับฟันมากขึ้นโอกาสที่ฟันและเหงือกก็ถูกทำลายมากขึ้น

อะไรบ้างที่ ควร หรือ ไม่ควร ในการดูแลรักษาสุขภาพฟัน

สิ่งที่ควรรับประทาน

     • ควรรับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่ ให้เกิดความสมดุล ขนมปัง ข้าว ซีรีอัล อาหารที่มีกากใย ผลไม้ ผัก เนื้อปลา ถั่ว นม ชีส โยเกิร์ต

     • ถ้าหากจะรับประทานอาหารว่างลดอาหารพวกแป้ง น้ำตาล ให้รับประทาน ผัก ผลไม้แทน

     • แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ด้วยยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์

     • ทำความสะอาดซอกฟันด้วยไหมขัดฟัน Dental Floss

     • พบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน

สิ่งที่ไม่ควรรับประทาน

     • ไม่ควรให้น้ำตาลสัมผัสฟันนานๆ ลดการอมลูกอม ขนมกรอบๆ เหนียวๆ ติดฟัน

     • น้ำอัดลม (Soft drink) มีน้ำตาลเยอะมาก 1 กระป๋อง บางยี่ห้อมีน้ำตาล 11 ช้อนกาแฟ ควรดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำอัดลม
อย่าดื่มน้ำอัดลมทุกมื้ออาหาร

     • ไม่สูบบุหรี่ เพราะมีผลต่อ ฟันเปลี่ยนสี เสี่ยงต่อโรคเหงือก เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งในช่องปาก ลำคอ

     กุญแจสำคัญในการเลือกรับประทานอาหารอย่างชาญฉลาด ไม่ใช่จะไม่กินพวกแป้ง น้ำตาลเลย แต่ต้องระวังในการกินและคิดก่อนกินทุกครั้ง เพราะอาหารมีผลต่อสุขภาพของเรา ถ้าเราสามารถควบคุมการกินแป้งและน้ำตาล กินผักให้เป็นนิสัยก็จะส่งให้สุขภาพของเราดี ยิ้มได้อย่างสวยงาม

ขอขอบคุณข้อมูลจาก นิตยสาร HealthToday